วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว




เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว 
ภูมิประเทศ
ภูมิประเทศด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเทือกเขาหินทรายมีหน้าผาสูงชันเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร บางแห่งที่ดินตื้นมีลักษณะเป็นลานหินหรือสวนหินบริเวณกว้างก่อให้เกิดทัศนียภาพที่แปลกตาและสวยงามดีอีกแบบหนึ่ง ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือมีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อนประกอบด้วยถ้ำขนาดใหญ่สวยงาม หลายแห่ง เช่น ถ้ำครอบ ถ้ำเม่น ถ้ำผาเทวดา ถ้ำคนตาย และถ้ำภูเขียว มียอดเขาสูงสุดคือ เขาอุ้มนางสูง 1,242 เมตรอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทุ่งกะมัง ภูเขียวมีสภาพป่าที่สมบูรณ์และภูเขาสูงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญยิ่งของลำน้ำพรม ลำสะพุง และแม่น้ำซี ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นต้นกำเนิดของห้วยดาด ห้วยไม้ซอด ห้วยซาง ไหลลงสู่ลำน้ำพรม ส่วนทางทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นต้นกำเนิดของลำสะพุง และแม่น้ำซี ซึ่งมีแหล่งต้นน้ำลำธารมาจากห้วยไขว่ ห้วยเพียว ห้วยป่าเตย ลำสะพุงน้อยและลำสะพุงลาย มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในท้องที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอภูเขียว อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิและชุมชนหลายจังหวัดแล้วไหลไปรวมกับลำน้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี

ภูมิอากาศ
ภูมิอากาศโดยทั่วไปเย็นและชื้น เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ในที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร
มีป่าทึบปกคลุมเป็นส่วนมากและอยู่ในเขตมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ มีฤดูกาลทั้ง 3 ฤดู
ฤดูฝน จะมีฝนตกชุกตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน แต่อาจจะทิ้งช่วงบ้างในเดือนมิถุนายน โดยตกหนักมากในเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 2,000 ลบ.มม.
ฤดูหนาว อุณหภูมิจะเริ่มหนาวเย็นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และหนาวจัดในเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงนี้ 10 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุด 2 องศาเซลเซียส
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธุ์ถึงปลายเดือนเมษายน แต่ในช่วงนี้อาจจะมีฝนตกลงมาบ้าง อากาศในตอนกลางคืนยังคงเย็น โดยทั่วไปอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูนี้ในเวลากลางวัน 25 องศาเซลเซียส

สัตว์ป่า
มีการพบร่องรอยกระซู่ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนที่ใกล้จะสูญพันธุ์ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมี เลียงผา ช้างป่า กระทิง เสือโคร่ง เสือดาว กวาง เก้ง กระจง หมีชะนี ลิง ค่าง หมูป่า ซึ่งจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่และนกต่าง ๆ ที่หายาก เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหลังขาว นกเงือกชนิดต่าง ๆ นกกางเขนดงและนกหัวขวานหลายชนิด คาดว่าเมื่อได้มีการสำรวจอย่างละเอียดจะได้พบสัตว์ป่าใหม่ ๆ แปลก ๆ อีกหลายชนิด

ป่าและพันธุ์ไม้
ชนิดป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบ (Tropical Rain Forest) ซึ่งประกอบด้วยป่าดงแล้ง (Dry Evergreen Forest) ป่าดิบชื้น (Tropical Evergreen Forest) และป่าดิบเขา (Hill Evergreen Forest) นอกนั้นมีป่าสนเขา (Pine Forest) ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) ป่าเต็งรัง (Dry Diptorocarps Forest) และทุ่งหญ้า (Savanna) พรรณพืชประกอบด้วย ไม้ยาง ตะเคียนหนูหรือตะเคียนหิน ตะแบก มะค่าโมง มะค่าแต้ แต่ตามหุบเขา ริมลำห้วย ลำธาร จะรกทึบยิ่งขึ้นกลายเป็นป่าดงดิบซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด ได้แก่ มะม่วงป่า ตะเคียนทอง กระบาก ยาง มะพลับ มะแฟน มะไฟ ชมพู่ป่าและมีเถาวัลย์ ไม้พื้นล่างเช่น บอนป่าหวาย ระกำ ไม้ไผ่ต่าง ๆ ขึ้นปกคลุมหนาแน่น ตามยอดเขาซึ่งมีระดับความสูงตั้งแต่ 700 เมตร ขึ้นไปมักจะมีสนเขาซึ่งเป็นชนิดสนสามใบซึ่งอยู่สลับกับพันธุ์ไม้ป่าดิบเขาจำพวกก่อขึ้นอยู่หนาแน่นเมื่อระดับความสูง เพิ่มขึ้น ป่าเบญจพรรณปรากฎเป็นหย่อมเล็ก ๆ ตามเนินเขาที่ไม่สูงมากนักมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญขึ้นอยู่ ได้แก่ มะค่าโมง ตะแบก แดง ประดู่ อ้อยช้าง มะกอก ไม้ไผ่ ในบริเวณที่ดินตื้นหรือดินลูกรังตามเนินเขาจะเป็นป่าเต็งรังขึ้นอยู่สลับกับป่าเบญจพรรณ โดยมีพันธุ์ไม้จำพวก เต็งรัง พะยอม เหียง มะกอก ตะแบก มะขามป้อม ยอป่า ลมแล้งและกระโดน นอกจากนี้ยังมีทุ่งหญ้าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติสลับกับป่าโปร่งตามบริเวณยอดเขาที่มีดินตื้นยังมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่งและแหล่งน้ำในลักษณะบึงตามธรรมชาติอีกหลายแห่ง เช่น ทุ่งกะมัง บึงแปน บึงมน บึงค้อและบึงยาวสลับกับป่าดงดิบที่แน่นทึบ

สิ่งอำนวยความสะดวก
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวได้จัดที่พักไว้คอยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สนใจเข้ามา ทัศนศึกษา ค้นคว้าวิจัยทางนิเวศวิทยา สัตว์ป่า และพรรณพืช ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามระเบียบการขอใช้บ้านพักของทางราชการอย่างเคร่งครัด
บริเวณสำนักงานเขตฯภูเขียว (ทุ่งกะมัง) ยังจัดให้มีเต้นท์ ร้านสวัสดิการ อาหาร เครื่องดื่ม ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ถึง 20.00 น. บรรยายประกอบสไลด์ป่าภูเขียว นกกระเรียน ชีววิทยาป่าไม้ของป่าภูเขียว ห้องนิทรรศการ หอดูสัตว์ บุคคลากรนำทางเดินป่า คำแนะนำในการสำรวจพื้นที่

การเดินทาง
โดยทางรถยนต์ จากกรุงเทพไปถึงอเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ระยะทางประมาณ 420 กิโลเมตร จากอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ไปตามเส้นทางของแก่น-หล่มสักประมาณ 20 กิโลเมตร แยกซ้ายไปตามเส้นทางคอนสารเขื่อนจุฬาภรณ์ ถึงศูนย์พิทักษ์ป่าภูเขียวที่ 1 ปางม่วง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 36 แยกซ้ายมือที่ด่านตรวจหน่วยพิทักษ์ป่าปางม่วง ไปตามทางลาดยาง 8 กิโลเมตรถึงหน่วยพิทักษ์ป่าศาลาพรม จากหน่วยศาลาพรมเดินทางต่อไปอีก 18 กิโลเมตร ถึงสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวทุ่งกะมัง ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ป่าภูเขียว รวมระยะทางจากอำเภอชุมแพถึงทุ่งกะมัง 82 กิโลเมตร


ที่อยู่ / สถานที่ติดต่อที่อยู่ : จ.ชัยภูมิ
โทรศัพท์ : 5614292-3 ต่อ 706,707

อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม

อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม      
  

 
  ข้อมูลทั่วไป
ทุ่งกระเจียวบานกลางลานหิน
อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อยู่ในพื้นที่อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ มีสภาพป่าสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำชีและแม่น้ำป่าสักมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่งโดยเฉพาะทุ่งดอกกระเจียว มีเนื้อที่ประมาณ 62,437.50 ไร่ หรือ 99.9 ตารางกิโลเมตร
ความเป็นมา เดิมบริเวณลานหินงามเป็นที่รู้จักเฉพาะราษฎรในท้องถิ่น ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2528 นายอำเภอเทพสถิต และป่าไม้อำเภอเทพสถิต ได้ออกตรวจพื้นที่และพบกับลานหินธรรมชาติที่มีรูปร่างสวยงามมีคุณค่าควรอนุรักษ์ไว้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนของบุคคลทั่วไป จึงเสนอเรื่องไปยังกรมป่าไม้ผ่านทางจังหวัดชัยภูมิ ในชั้นต้นกรมป่าไม้ได้ประกาศเป็นวนอุทยานป่าหินงาม เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2529 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร หรือ 6,250 ไร่
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2536 กรมป่าไม้ได้ทำการสำรวจพื้นที่ใกล้เคียงอย่างละเอียด และพบว่ายังมีพื้นที่ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เมื่อรวบรวมพื้นที่แล้วประมาณ 112 ตารางกิโลเมตร หรือ 70,000 ไร่ โดยพื้นที่ดังกล่าวได้กันหมู่บ้านออกจากพื้นที่เรียบร้อยแล้วโดยการปฏิรูปที่ดิน อีกทั้งพื้นที่เตรียมจัดตั้งนี้มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยา มีลานหินที่มีรูปลักษณ์สวยงาม มีพันธุ์ไม้ล้มลุกประจำถิ่น ที่มีดอกสีชมพูอมม่วงชูดอกสะพรั่งในช่วงต้นฤดูฝน มีน้ำตกไหลตลอดปี สมควรที่จะอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบของอุทยานแห่งชาติ
ต่อมากรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 1642/2537 ให้ นายวิวัฒน์ จันทร์เผือก นักวิชาการป่าไม้ 5 ตำแหน่งเลขที่ 2459 อุทยานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย ไปดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ป่าดังกล่าวให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และให้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติป่าหินงามแห่งนี้ด้วย
ต่อมาปี 2550 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่านายางกลัก ในท้องที่ตำบลโป่งนก ตำบลนายางกลัก ตำบลบ้านไร่ ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต และตำบลซับใหญ่ กิ่งอำเภอซับใหญ่ อำเภอจตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 26 ก ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2550 จัดเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 105 ของประเทศ

 ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขา ประกอบไปด้วยภูเขาต่างๆ เช่น เขาพังเหย มีความสูงประมาณ 200 - 800 เมตร ทางธรณีวิทยาของพื้นที่เป็นหมวดหินภูพานหมวดหินพระวิหาร และหมวดหินภูกระดึง เป็นหินในระหว่างช่วงเวลาประมาณ 180 - 230 ล้านปี ยุคจูแลสสิกและไทรแอสสิก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารลุ่มน้ำชี (แม่น้ำชี) ลำน้ำสนธิซึ่งไหลลงแม่น้ำป่าสัก

 ลักษณะภูมิอากาศ
 
ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไป อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จากลักษณะของแนวเทือกเขาพังเหยกั้นอยู่ในแนวเหนือ–ใต้ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ที่พัดพาเอาความชุ่มชื้นจากทะเลมาตกเป็นฝนในพื้นที่เป็นปริมาณมากจากข้อมูลของสถานีตรวจอากาศอุทยานแห่งชาติป่าหินงามในระหว่าง พ.ศ. 2543–2546 พบว่ามีปริมาณน้ำฝนตลอดปีเฉลี่ย 1,782.6 มิลลิเมตร มีจำนวนวันที่ฝนตก 109 วัน/ปี โดยมีฝนตกชุกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม วัดได้ 338.3 มิลลิเมตร ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนเมษายน วัดได้ 33 องศาเซลเซียส และเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนธันวาคม วัดได้ 18.3 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี วัดได้ 24.8 องศาเซลเซียส สำหรับฤดูกาลเมื่อพิจารณาตามลักษณะอุณหภูมิ ประมาณน้ำฝน และความชื้นสัมพัทธ์แล้ว สามารถแบ่งฤดูกาลได้ดังนี้
ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 278.5 มิลลิเมตร
ฤดูหนาว อยู่ระหว่างเดือนตุลาคม - มกราคม อุณหภูมิเฉลี่ย 23.2 องศาเซลเซียส
ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ย 25.9 องศาเซลเซียส

 พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าเป็นป่าเต็งรังผสมผลัดใบป่าดิบแล้ง มีไม้เหียงเป็นไม้เด่น และมี เต็ง รัง พยอม ก่อ กะบก ประดู่ อินทนิลบก ส้าน ฯลฯ
สัตว์ป่า ได้แก่ เก้ง หมูป่า กระต่ายป่า นิ่ม เม่น อ้น อีเห็น กระรอก ลิง ฯลฯ


 อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม
ตู้ ปณ.1 ปทจ.เทพสถิต  อ. เทพสถิต  จ. ชัยภูมิ   36230
โทรศัพท์ 0 4489 0105   โทรสาร 0 4489 0105   
 

อุทยานแห่งชาติตาดโตน จังหวัดชัยภูมิ

อุทยานแห่งชาติตาดโตน  จังหวัดชัยภูมิ


     
    อุทยานแห่งชาติตาดโตน อยู่ในท้องที่อำเภอเมืองชัยภูมิทางทิศเหนือของจังหวัดชัยภูมิ ลักษณะทางธรณีวิทยาประกอบด้วย หินปูนและหินดินดาน โดยเฉพาะบริเวณน้ำตกตาดโตนประกอบด้วยลานหินที่กว้างใหญ่และสวยงาม พื้นที่ทั่วไปปกคลุมด้วยป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังเป็นส่วนใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 217.18 ตารางกิโลเมตร หรือ 134,737.50 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
• อุทยานแห่งชาติตาดโตน มีพื้นที่อยู่บนเทือกเขาภูแลนคา มีพื้นที่ประมาณ 1 ใน 4 ของเทือกเขาภูแลนคา โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงโดยมีเทือกเขาล้อมรอบที่ราบเอาไว้ ตอนกลางเป็นหุบเขากว้างใหญ่ เทือกเขาที่ล้อมรอบนี้ประกอบด้วยยอดเขาสูงได้แก่ ภูเกษตร ภูดี ภูหยวก เป็นต้น ยอดเขาสูงเหล่านี้เป็นต้นน้ำลำธารและต้นกำเนิดของน้ำตกตาดโตน ซึ่งจะไหลรวมกันเป็นห้วยปะทางและไหลผ่านตัวอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ สภาพป่าเป็นป่าดิบแล้ง ในบริเวณริมลำห้วยหุบเขาและยอดเขา มีดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ดี และป่าเต็งรังเป็นดินกรวด มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ
ลักษณะภูมิอากาศ
• สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติตาดโตน แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ
• ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม อากาศค่อนข้างร้อน ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวน้ำตก เพื่อพักผ่อนและเล่นน้ำ
ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน น้ำตกตาดโตน จะมีน้ำไหลเต็มที่และสวยงามมาก
ฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคม - มกราคม อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 13 องศาเซลเซียส
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
• สภาพป่าโดยทั่วไป เป็นป่าดิบแล้ง ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่บริเวณริมน้ำลำธาร หุบเขาและ ยอดเขา พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ มะเกลือ ตะเคียนหนู ตะเคียนทอง และตะแบก เป็นต้น ป่าเต็งรัง ขึ้นอยู่บริเวณเทือกเขา พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง พลวง กระบก และกระโดน เป็นต้น ส่วนไม้พื้นล่างที่สำคัญได้แก่ หญ้าเพ็ก และลูกไม้ต่าง ๆ
สัตว์ป่าส่วนใหญ่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก ๆ ได้แก่ กระรอก กระแต นกชนิดต่าง ๆ ซึ่งสัตว์ป่าส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ซึ่งอยู่ไม่ห่างกับอุทยานแห่งชาติตาดโตน
สถานที่ท่องเที่ยว
• ศาลเจ้าพ่อตาดโตน (ศาลปู่ด้วง) อยู่ที่บริเวณน้ำตกตาดโตน เป็นที่เลื่อมใสและเคารพสักการะของชาวจังหวัดชัยภูมิ เนื่องจากปู่ด้วงเป็นคนรุ่นเดียวกันกับเจ้าพ่อพระยาแล (เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดชัยภูมิ) ปู่ด้วงท่านชอบใช้ชีวิตแบบสมถะ สันโดษ ชอบความสงบ เที่ยวเดินไปในป่าตลอดเทือกเขาแลนภูคา และมีความรู้ในทางสมุนไพรช่วยเหลือรักษาชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วย ประกอบกับท่านใช้ความรู้ในทางเวทมนต์คาถา จนเป็นที่เลื่องลือเลื่อมใสของชาวบ้าน แม้ว่าปัจจุบันท่านได้เสียชีวิตไปนานแล้ว ชาวบ้านก็ยังเลื่อมใสศรัทธา
• ผาเกิ้งและพระพุทธชัยภูมิพิทักษ์ เป็นจุดสูงสุดของถนนสายชัยภูมิ - อำเภอหนองบัวแดง บริเวณกิโลเมตรที่ 27 เป็นจุดชมวิวที่สวยงามมาก มองไปทางทิศเหนือจะเห็นตัวอำเภอหนองบัวแดง และเทือกเขาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ที่บริเวณผาเกิ้งจะมีพระพุทธรูปคู่เมืองจังหวัดชัยภูมิ ปางห้ามญาติ สูงประมาณ 14 ศอก หันหน้าไปทางหน้าผาทิศเหนือ
• น้ำตกตาดโตน จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของอุทยานแห่งชาติตาดโตน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดชัยภูมิ ห่างจากตัวจังหวัดชัยภูมิไปทางทิศเหนือ 21 กิโลเมตร และทางลาดยางตลอดถึงน้ำตก ด้านบนน้ำตกมีสภาพเป็นลานหินกว้างประมาณ 50 เมตร และยาวไปตามลำน้ำ ประมาณ 300 เมตร ทำให้น้ำไหลลาดมาตามลานหิน มีแอ่งที่สามารถเล่นน้ำได้เป็นจุด ๆ และไหลลงมาตกที่หน้าผาเป็นน้ำตกตาดโตนที่มีความสูงประมาณ 6 เมตร และกว้าง 50 เมตร ในฤดูฝน(ประมาณเดือน มิถุนายน - กันยายน) น้ำตกจึงจะมีน้ำมากเต็มหน้าผา
• น้ำตกตาดฟ้า เป็นน้ำตกขนาดเล็กอยู่ทางทิศตะวันออกของเขตอุทยานแห่งชาติห่างจากตัวจังหวัดชัยภูมิประมาณ 23 กิโลเมตร การคมนาคมจะไปตามทางลาดยางตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 201 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ถึงบ้านไทรงามแล้ว แยกซ้ายมือไปตามถนน ร.พ.ช. ซึ่งเป็นทางลูกรัง ถึงบ้านนาวังแก้ว แยกขวามือเข้าไปถึงน้ำตกระยะทาง 3 กิโลเมตร
• น้ำตกผาเอียง เป็นน้ำตกที่มีลักษณะเป็นหน้าผาเฉลียงตัดลำห้วยอยู่ทางทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติตาดโตน อยู่ห่างจากทางหลวงจังหวัดชัยภูมิ-หนองบัวแดง (หมายเลข 2159) บริเวณบ้านชีลองเหนือ ประมาณ 3 กิโลเมตร มีทางเดินเท้าถึงตัวน้ำตกประมาณ 800 เมตร บริเวณรอบน้ำตกแห่งนี้เป็นป่าดิบแล้งค่อนข้างสมบูรณ์โดยมีต้นไม้ขนาดใหญ่เหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ร่มรื่นเหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจเป็นอย่างยิ่ง
• น้ำตกผาสองชั้น อยู่เหนือขึ้นไปจากน้ำตกผาเอียงมีลักษณะเป็นน้ำตกซึ่งจากหน้าผาสองชั้นโดยหน้าผาสูงประมาณ 5 เมตร
การเดินทาง
• รถยนต์ จากตัวจังหวัดชัยภูมิจะเดินทางไปทางทิศเหนือ ตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2051 เป็นทางลาดยางตลอดจนถึงน้ำตกตาดโตน ซึ่งมีที่ทำการอุทยานแห่งชาติอยู่ที่บริเวณน้ำตกตาดโตนจะไปโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือรถจ้างเหมาจะสะดวกกว่า เพราะไม่มีรถโดยสารประจำทางโดยตรง แต่จะมีรถยนต์โดยสารไปถึงบ้านตาดโตน แล้วเดินเข้าไปน้ำตกตาดโตนอีกประมาณ 2 กิโลเมตร
ที่พัก-ห้องประชุม
 มีบ้านพักและสถานที่กางเต้นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว
สถานที่ติดต่อ
 • อุทยานแห่งชาติตาดโตน ตู้ ปณ. อ.เมือง จ.ชัยภูมิ 36000 โทรศัพท์ : 081926 4870


อ้างอิง http://www.oceansmile.com/E/Chaiyaphum/Tadton.htm